การจัดการกับความว่าง (ที่ไม่ใช่ความว่าง) งงเด้
บังเอิญว่า คนอย่างผมมันว่าง และพอว่าง ก็คิดได้อยู่เรื่อยๆ บางครั้งลองตามความคิดของตัวเองไป ก็พบว่า ไม่มีที่สิ้นสุด จึงสงสัยกันอยู่ว่า ในระหว่างที่ผมว่างอยู่นี้และฟุ้งซ่าน คนส่วนใหญ่เขาคิดอะไรกัน เขาจัดการความว่างและวุ่นวายใจได้อย่างไร ผมก็ค้นใหญ่เลย จากหนังสือบ้าง จาก โซเชียลบ้าง เอาเป็นว่าทั้งหลักการอย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ ผมก็ได้ข้อสรุปมานำเสนอท่านทั้งหลาย เช่นนี้ว่า
- ความว่างเกิดจากไม่มีอะไรทำ เราควรหาอะไรทำจะได้ไม่ว่าง ดูเหมือนจะเป็นอะไรธรรมดา แต่ก็แฝงไปด้วยปรัชญาอันลึกซึ้ง เพราะถ้าเราตั้งข้อสังเกตจะพบว่า มีคนมากมายที่ฟุ้งซ่านจะนสุดท้ายควบคุมตัวเองไม่ได้ บ้างก็เป็นบ้า บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ทำร้ายผู้อื่น บ้างก็ทำร้ายตัวเอง(ในที่ลับๆ ด้วยมือบ้าง) วิธีนี้ผมค้นพบจากพี่โน้ส อุดม ถอดความได้บางช่วงบางตอนว่า หากเรามีความคิดฟุ้งซ่านหรืออยากฆ่าตัวตายในหัวขึ้นมาให้ หามาม่าซักสองซองไปต้มกินซะ ที่จริง พี่เขาก็อธิบายว่าที่ใช้วิธีนี้ เพราะคนที่คิดฟุ้งซ่านขนาดนั้นได้เพราะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากกินอะไรเข้าไปนอกจากน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูง ยังช่วยให้ฮอร์โมนแห่งความสุขที่หลั่งมาในขณะกินมาช่วยให้ผ่อนคลายได้น่ะครับ
- ความว่างเกิดจากไม่ได้ทำสิ่งที่เคยทำ เช่น ติดตามละคร ติดโซเชียล ติดการ์ตูน รายการต่างๆ หรือแม้แต่ห่างจากการเล่นสมาร์ทโฟน ตลอดจนการขาดการติดต่อสื่อสาร ก็เป็นสาเหตุให้เราฟุ้งซ่านจากความว่างเหล่านี้ ซึ่งนับว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อย แต่หากคิดอีกแง่นึงอาจคิดได้ว่า การได้ติดตามอะไรสักอย่างช่วยให้เราลืมตัวลืมตนได้สักพัก เพราะเราสนใจกับสิ่งที่ทำอยู่ทำให้เราละจากความคิดถึงแต่ตัวเอง การเพิ่มช่องทางในการทำสิ่งเหล่านี้อาจช่วยได้ ประมาณว่า ว่างจากอันนึงก็อาศัยอีกอันนึงไม่ให้ว่างไง แต่บางครั้งอาจไม่เหมาะสมสำหรับวัยทำงานหรือวัยรุ่นที่ต้องมีเวลาหรืองานประจำที่ต้องรับผิดชอบ เพราะจะลดเวลาว่างลง
- ความว่างเกิดจากภายในจิตใจของเราเอง (ออกแนวจิตวิญญาณอะไรประมาณนี้) อันนี้ต้องพึ่งพาอาศัยศาสนาของแต่ละท่านช่วยขัดเกลาให้ไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนในทางพุทธนั้น เราถือว่า ความว่างเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะ ความว่างจริงๆ ซึ่งทั้งสองข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ใช่ความว่างที่แท้จริง ความว่างในใจที่แท้จริงแล้ว คือ การว่างจากการยึดติดอันใช่ตัวตนออกไป (ผมจำเค้ามาอีกทีน่ะ ไม่แน่นซักเท่าไรในการอธิบายเกี่ยวกับศาสนาน่ะครับ) เขาว่ากันว่า จะให้ว่างในทางพุทธนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉยๆ ในระหว่างทำงานเราก็ว่างได้ แต่ความว่างไม่ได้หมายความว่าทำอะไรไม่ได้เลยน่ะ แต่กลับว่างเพื่อให้คิดอะไรได้มากขึ้น มีสมาธิกับสิ่งที่ทำมากขึ้น
สำหรับท่านที่สนใจจะทำใจให้ว่างอย่างพุทธ คงต้องไปหาอ่านหนังสือธรรมะหลายๆเล่มดูน่ะครับ เท่าที่ผมพอจะแนะนำได้ คงเป็นทางเซนน่ะครับ เช่น สูตรของเว่ยหลาง ของท่านพุทธทาสภิกขุ ผมว่าค่อนข้างเขียนได้ถึงแก่นและเป็นหนังสือที่ได้รับการวิพากย์วิจารณ์มากในสมัยนั้นเกี่ยวกับแนวคิดที่เขียนถึงเซนจากมุมมองของเถรวาท แต่ผมอ่านแล้วมันจับใจพอสมควร แต่ก็ไม่อาจนำมาฝากได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะถอดความมาได้ครบถ้วนตามที่ท่านได้เขียนไว้หรือป่าวครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น